วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม (จับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (วัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ้งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฎจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ" อย่างไรก็ดี สิ่งแวดล้อมอาจแยกออกเป็นลักษณะกว้างๆ ได้ 2 ส่วนคือ สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร ทุกประเภท และ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ชุมชนเมือง สิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นต้น
มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
จากความหมายของคำว่า สิ่งแวดล้อม ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในยุคต้นๆ นั้น มีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับดุลของตัวเองได้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและปัญหาสิ่งแวดลล้อมที่รุนแรง จึงยังไม่ปรากฎแต่อย่างไรก็ตามจากการที่ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น และเกือบทุกประเทศต่างก็มุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมจึงปรากฎให้เห็นบ้าง แต่ก็ยังพอที่จะอยู่ในวิสัยและสภาพที่รับได้ กาลเวลาผ่านมาจนกระทั่งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา ( ระยะสิบปี ) ซึ่งเรียกกันว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฏว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น - ปัญหาทางด้านภ
าวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ อากาศ ดิน และสารเคมีต่างๆ - ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลาย และหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา เป็นต้น - ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมฃนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม และปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย เป็นต้น เมื่อผลจากการเร่งรัดพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ปรากฎว่าในหลายกรณีก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม ในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นักพัฒนาและนักวางแผนที่มีเหตุผลก็เริ่มตระหนักว่าการเร่งรัดนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเร่งและเน้นความเจริญทางด้านวัตถุนั้นอาจจะไม่สามารถสร้างคุณภาพที่ดีของชีวิตความสุข ความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตดังที่มุ่งหมายไว้ได้ ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์อาจจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ต้องเสี่ยงกับภัยจากมลพิษ เช่น มลพิษในอากาศ ในน้ำ ในอาหาร และความเสื่อมโทรมทางด้านสุขภาพจิต เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น แนวทางของการพัฒนาในปัจจุบัน จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงเพราะว่าได้มีการนำเอาความผิดพลาดจากอดีตมาพิจารณาทบทวน และให้ความสำคัญปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนได้มีความเห็นพ้องกันว่า การพัฒนาที่ถูกต้องนั้น ควรเป็นการพัฒนาที่มุ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นสูงขึ้นในด้าน มากกว่าจะเป็นการเล็งผลเสียทางด้านรายได้เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมแต่เพียงประการเดียวอย่างไรก็ตามมีอยู่บ่อยครั้งที่มีผู้มองเห้นว่า การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินั้น เป็นการขัดขวางการพัฒนาและความเจริญของประเทศ ซึ่งการมองในลักษณะเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการมองปัญหาด้านเดียว ความเป็นจริงแล้วทั้งการพัฒนาและการรักษาคุรภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้เพียงแต่ร่วมกันพิจารณาหาจุดแห่งความสมดุลซึ่งจะก่อประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสามารถรักษาดุลยภาพแห่งสภาวะแวดล้อมและธรรมชาติไว้ได้ด้วย